
เยอรมันเปิดยุทธการบาร์บาร์รอสซ่า
18 ธันวาคม 1940 ฮิตเลอร์ได้ลงนามในคำสั่งที่ 21 อนุมัติแผนการขั้นสุดท้ายในการบุกสหภาพโซเวียต ภายใต้ชื่อรหัสยุทธการ “บาร์บาร์รอสซ่า” ในการนี้เยอรมนีและพันธมิตร (ฟินแลนด์ โรมาเนีย และฮังการี) ได้ระดมสรรพกำลังอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ กองทัพขนาดมโหฬารประกอบด้วย ทหาร 182 กองพลของเยอรมัน และ 20 กองพลของพันธมิตรซึ่งรวมแล้วมากถึง 5 ล้านคน ปืนใหญ่ 47,200 กระบอก เครื่องบินรบ 4,400 ลำ รถถังและยานเกราะโจมตี 4,400 คัน เรือรบ 250 ลำ ขณะที่สหภาพโซเวียตเวลานั้นมีกำลังทหาร 186 กองพล (3 ล้านคน) ปืนใหญ่ 39,400 กระบอก รถถัง 11,000 คัน และเครื่องบินกว่า 9,100 ลำ อย่างไรก็ตามก่อนการโจมตีเกิดขึ้นกองทัพแดงไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า พวกเขาได้รับแจ้งในวันที่ 22 มิถุนายนก่อนการโจมตีเริ่มขึ้นไม่กี่ชั่วโมง
22 มิถุนายน 1941 เวลา 04:00 น. กองทัพเยอรมันเริ่มเปิดฉากโจมตีสหภาพโซเวียต การโจมตีครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวยาวตั้งแต่บาเรนต์ไปจนถึงทะเลดำ การจัดรูปแบบกองทัพขนาดใหญ่และหนาแน่นตลอดแนวรบสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อสหภาพโซเวียตในการต่อต้าน
หลังการโจมตีระลอกแรก พลเอก เกออร์กี ชูคอฟ เสนาธิการใหญ่กองทัพแดง ได้สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ว่า “วันที่ 22 มิถุนายน 1941 เวลา 04.00 น. กองทัพเยอรมันได้บุกข้ามพรมแดนของเราโดยไม่ทราบสาเหตุ พวกเขาบุกเข้าไปในสนามบินและเมืองต่างๆของเรา
- ด้านทิศเหนือ:
-ข้าศึกทำการบุกเข้าสู่เลนินกราดและกรันชตัดท์ โดยการสนับสนุนของเครื่องบินทิ้งระเบิด
2. ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ:
– เวลา 04:00 น.ข้าศึกเปิดฉากยิงปืนใหญ่ใส่เรา พร้อมกับทิ้งระเบิดใส่สนามบินและเมืองของเรา
3. ด้านทิศด้านตะวันตก:
– เวลา 04:20 น. เครื่องบินข้าศึกมากกว่า 60 ลำเข้าโจมตีกรอดโนและเบรสต์ พร้อมทั้งเปิดฉากยิงปืนใหญ่ใส่ทหารของเราที่ประจำอยู่แนวรบด้านตะวันตกทั้งหมด กองทัพศัตรูเริ่มการโจมตีจาก ซัวเวลกี ไปยัง ฮาลินกา , ดอมโบรว์ และจากเส้นทางรถไฟ ซโตโกลอฟ ไปยัง โวลโกวิสก์
4. ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้:
– เวลา 04:20 น. ข้าศึกเริ่มเปิดฉากโจมตีด้วยการยิงปืนกลใส่เรา
– เวลา 4.30 น. เครื่องบินข้าศึกระดมทิ้งระเบิดใน ลูโบมล์, โกวิล, ลุทสก์, วลาดิเมียร์–วาลือสกี
– เวลา 4.35 น. กองกำลังทางบกของศัตรูเข้าโจมตี วลาดิเมียร์–วาลือสกีลูโบมล์ และ กรึซตือนาโปล ตามลำดับ”
เย็นวันที่ 22 มิถุนายน 1941 “วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ” ประกาศทางวิทยุแจ้งให้พลเมืองโซเวียตทราบถึงการรุกรานของเยอรมันว่า
“พี่น้องชาวโซเวียตโปรดทราบ! ในนามของสหภาพโซเวียตและสหายผู้นำสตาลิน ผมขอแถลงให้ทุกท่านทราบว่า: วันนี้ เวลา 04.00 น. โดยไม่มีเหตุผลใดๆ กองทัพเยอรมันได้ทำการโจมตีประเทศของเรา รุกรานพรมแดนของเรา ทิ้งระเบิดใส่หลายๆเมืองของเรา ทั้ง ชิโตเมียร์, เคียฟ, เซวาสโตโปล, เคานัส และเมืองอื่นๆ ขณะนี้เราสูญเสียพลเมืองไปแล้วมากกว่า 200 คน นอกจากนี้เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่ยังโจมตีใส่เราจากโรมาเนียและฟินแลนด์อีกด้วย การโจมตีที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศของเราครั้งนี้ถือเป็นการทรยศหักหลังที่เลวร้ายที่สุดอย่างไม่มีใครเทียบได้ในประวัติศาสตร์ของชาติที่เจริญแล้ว การโจมตีเกิดขึ้นทั้งๆที่สัญญากันแล้วว่าจะไม่รุกรานต่อกันระหว่างสหภาพโซเวียตและเยอรมนี ซึ่งรัฐบาลโซเวียตได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดมา เยอรมันไม่มีข้ออ้างใดๆสำหรับในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามผู้นำฟาสซิสต์จะต้องชดใช้อย่างสาสม ขอให้เราทุกคนร่วมแรงร่วมใจต่อสู้เพื่อพรรคบอลเชวิคและสภาพโซเวียตอันรุ่งโรจน์ของเรา ขอให้เชื่อมันในสหายสตาลิน ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของเรา ศัตรูจะต้องพ่ายแพ้ ชัยชนะจะต้องเป็นของเรา”
23 มิถุนายน 1941 สหภาพโซเวียตได้จัดตั้ง “องค์กรผู้นำสูงสุดทางยุทธศาสตร์ของกองทัพ” ขึ้นในกรุงมอสโก
30 มิถุนายน 1941 สหภาพโซเวียตมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันรัฐ (GKO) โดยมีสตาลินเป็นประธานและเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มาตรการฉุกเฉินต่างๆได้ถูกนำมาใช้ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ทุกสิ่งเพื่อแนวหน้า! ทุกอย่างเพื่อชัยชนะ! “ อย่างไรก็ตาม ในการสู้รบกองทัพแดงก็ยังเป็นฝ่ายล่าถอยอย่างต่อเนื่อง
กลางเดือนกรกฎาคม 1941 กองทัพเยอรมันรุกคืบเข้าไปในดินแดนโซเวียตได้ลึกถึง 300-600 กม. ยึดลิทัวเนีย ลัตเวีย และเกือบทั้งหมดของเบลารุสเซีย รวมทั้งพื้นที่สำคัญของเอสโตเนีย ยูเครน มอลโดวา ขณะที่เลนินกราด สโมเลนสค์ และเคียฟ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

3 กรกฎาคม 1941 สตาลินแถลงการณ์ผ่านวิทยุมอสโกว่า
สหายทุกท่าน!พี่น้องประชาชน! และเหล่าทหารกล้าทั้งหลาย! ผมขอกราบเรียนให้ท่านทราบว่า! การโจมตีจากคนทรยศฮิตเลอร์ต่อมาตุภูมิของเราตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน ยังคงดำเนินต่อไป แม้กองทัพแดงของเราจะเข้าต่อสู้อย่างกล้าหาญ แม้กองทัพและหน่วยบินที่ดีที่สุดของศัตรูจะถูกทำลายไปแล้ว แต่ศัตรูก็ยังรุกไปข้างหน้าไม่หยุดและส่งกำลังมาเสริมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีกองทัพใดที่จะอยู่ยงคงกระพันอย่างแท้จริง กองทัพที่แข็งแกร่งของนโปเลียนก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพรัสเซีย อังกฤษ และเยอรมันมาแล้ว ช่วงสงครามจักรวรรดินิยมครั้งที่ 1 กองทัพเยอรมันของวิลเฮล์มที่ถือว่าแข็งแกร่งที่สุดในตอนนั้น ซึ่งรบชนะทั้งรัสเซีย แองโกล(อังกฤษ) และฝรั่งเศสหลายครั้งหลายครา แต่สุดท้ายก็กลับพ่ายแพ้ต่อแองโกลและฝรั่งเศส กองทัพฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาพวกเขายังไม่เจอการต่อต้านอย่างแท้จริงในยุโรป มีเพียงเราเท่านั้นที่ต่อต้านอย่างรุนแรงและทรหด หลายคนอาจสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อรัฐบาลโซเวียตได้ลงนามในสนธิสัญญาแล้วว่าจะไม่รุกรานกันกับสัตว์นรกผู้ทรยศอย่างฮิตเลอร์และริบเบนทรอป เราผิดสัญญาก่อนอย่างนั้นหรือ? ไม่เลย! สนธิสัญญานี้เป็นสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างสองรัฐ และพวกเขาเป็นฝ่ายเสนอให้เราเองในปี 1939, แล้วเราฝ่าฝืนได้ไหมเล่า? กรณีนี้ผมคิดว่าไม่มีประเทศที่รักสันติใดๆจะฝ่าฝืน นอกจากสัตว์นรกฮิตเลอร์และริบเบนทรอป ในเมื่อสัญญาไม่มีความหมาย เราก็ต้องสู้เพื่อขับไล่ผู้รุกรานให้พ้นจากดินแดนของเรา จงทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของศัตรู ไม่ใช่แค่รถจักรไอน้ำ ,รถม้า ,เสบียงอาหาร หรือเชื้อเพลิง เราต้องสร้างหน่วยจรยุทธ์เพื่อก่อวินาศกรรมไปทั่วทุกหนแห่งที่พวกมันยึดครองอยู่ ขอให้ระเบิดสะพาน ,ถนนหนทาง ,เครือข่ายการสื่อสาร ,เผาป่า ,โกดัง ,เกวียน พวกมันจะต้องออกไปจากประเทศของเรา จงไล่ตาม ขัดขวางกิจกรรมทั้งหมดและทำลายพวกมันทุกย่างก้าว สงครามครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก แต่เราไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยว เราจะมีพันธมิตรร่วมสู้ทั้งในยุโรป อเมริกา รวมถึงเยอรมันเอง ที่ถูกฮิตเลอร์กดขี่บีบบังคับ สงครามเพื่ออิสรภาพแห่งปิตุภูมิของเราจะเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้ของยุโรปและอเมริกา เพื่อเอกราชเพื่อสันติภาพเราจะระดมกองกำลังทั้งหมดที่มีขับไล่ศัตรู คณะกรรมการป้องกันรัฐขอให้พวกเราเชื่อมั่นในรัฐบาลโซเวียตและสนับสนุนกองทัพแดงอย่างไม่เห็นแก่ตัวเพื่อความพ่ายแพ้ของศัตรูและชัยชนะของเรา มาเถอะ! มาร่วมสนับสนุนกองทัพแดงที่กล้าหาญและยิ่งใหญ่ของเรา! ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อชัยชนะ ก้าวไปสู่ชัยชนะของเรา!
(Источник информации – портал История.РФ, https://histrf.ru/lenta-vremeni/event/view/napadieniie-ghitlierovskoi-giermanii-na-sssr